เมื่อช่วงวันที่ 1 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ดำเนินโครงการให้นิสิตระดับปริญญาโทผู้ได้รับทุนพัฒนาอาจารย์ประจำคณะโลจิสติกส์ จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นายนำชัย โสไกร และ นายจิรวัฒน์ นัยกองศิริ เข้าร่วมในโครงการ International Internship Pilot Program ที่ Lean Smart Manufacturing Lab (LSM Lab) ณ National Internship Pilot Program มหาวิทยาลัยฟอร์โมซา ประเทศไต้หวัน โดยโครงการมุ่งส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรสายคณาจารย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อการจัดการศึกษาของคณะฯ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมด้วยในขณะเดียวกัน
โครงการนี้มีกิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ในด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรม (SDG 9) โดยเปิดโอกาสให้นิสิตได้รู้จักกับเครื่องมือและวิธีการที่ทันสมัยในการผลิตแบบ Lean Smart และระบบการติดตามการปล่อยก๊าซ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการในโรงงาน ลดของเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการการผลิต โดยการเสริมสร้างทักษะเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการสร้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มุ่งสร้างศักยภาพทางด้านแรงงานและการขับเคลื่อนนวัตกรรมรวมถึงผลผลิตภายในภาคอุตสาหกรรมการผลิต (SDG 8)
นอกจากนี้ โครงการฝึกงานในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) โดยการให้นิสิตได้ความรู้เชิงปฏิบัติและได้รับประสบการณ์ตรง ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม เช่น Managing-Technology Co., Ltd และ Victor Taiwan Company Ltd ทำให้นิสิตผู้ฝึกงานจะได้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายและแนวทางแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติของสถานประกอบการ เสริมสร้างประสบการณ์ทางการศึกษาซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อสังคมภายหลังการสำเร็จการศึกษาของนิสิตผู้ฝึกงาน
อนึ่ง ในระหว่างการฝึกงาน นิสิตผู้ฝึกงานยังได้มีส่วนร่วมในโครงการที่เน้นการพัฒนาอัลกอริทึมและการเพิ่มประสิทธิภาพงาน โดยใช้ประโยชน์จากเครื่องมือต่างๆ เช่น Regression, Decision Trees, Random Forest, Gradient Boosting และ Artificial Neural Networks และด้วยนวัตกรรมที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ นิสิตผู้ฝึกงานจะได้รับการเสริมสร้างให้มีทักษะในกระบวนการตัดสินใจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน อันมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเสริมสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดผลิตภาพอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 9)
นอกจากนี้ การศึกษาอันเกี่ยวกับเครื่องมืออัตโนมัติสำหรับผู้ฝึกงานที่เตรียมตัวเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตามโครงการนี้ยังเน้นย้ำถึงลักษณะของการศึกษาแบบสหวิทยาการ โดยผสมผสานองค์ประกอบของการเขียนโปรแกรมเชิงเส้นและแบบจำลองเชิงจำนวนเต็มแบบผสม (Mixed Integer Linear Programming: MILP) เพื่อจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อน โดยการศึกษาวิจัยนี้ไม่เพียงแต่พัฒนาความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีนัยสำคัญเชิงปฏิบัติอันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรภายในสถาบันการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการส่งเสริมการศึกษาที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG 4)


