เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัดกิจกรรมการศึกษาดูงานภายใต้ความอนุเคราะห์จากบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (หรือ “WHA”) ในการให้นิสิตแขนงวิชาการค้าระหว่างประเทศและการจัดการโลจิสติกส์ จำนวน 104 คน เข้าศึกษาดูงานนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เชื่อมต่อกับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 โดยเขตดังกล่าวเป็นพื้นที่จัดสรรไว้สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปอยู่รวมกันอย่างเป็นสัดส่วน ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ
โดยในเรื่องของ Smart Utility ระบบสาธารณูปโภคประการหนึ่งที่สำคัญของทางนิคมอุตสาหกรรมก็คือน้ำ ซึ่งเมื่อมีการใช้น้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมแล้วก็จะต้องมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สาธารณะ โดยให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยมาตรฐานการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรืออีกทางหนึ่งคือ นำน้ำดังกล่าวกลับไปหล่อเย็นเครื่องจักรเพื่อลดการสูญเสีย ด้วยกระบวนการขั้นตอนโดยสังเขป ทางบริษัทฯ รับน้ำมาจากแหล่งน้ำดับ ผันเข้ามาโรงกรองเพื่อใช้เป็นน้ำในอุตสาหกรรม (industrial water) กรองด้วยระบบ Reverse Osmosis แล้วมาเป็นน้ำที่ผ่านขบวนการขจัดอิออนของสารละลายทั้งหมด ทำให้ได้น้ำบริสุทธิ์ที่ประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำบริสุทฺธิ์ ดังที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Demineralized Water” ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางบริษัทฯ ต้องหาปริมาณความต้องการในการใช้น้ำ ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมต้องการใช้น้ำมากน้อยเพียงใด โดยจะมีการผันน้ำให้เหมาะสมต่อความต้องการของลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและตรงตามมาตรฐานของน้ำที่จำเป็นต้องใช้ การดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ทางนิคมอุตสาหกรรมมีน้ำดิบสำรองไว้ใช้ได้ยาวนานยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ และยังสามารถช่วยสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นหากเกิดวิกฤตภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ การพัฒนาทรัพยากรน้ำในลักษณะดังกล่าวยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและชุมชมรอบนิคมอุตสาหกรรมในด้านความมั่นคงของแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนภายในนิคมอุตสาหกรรม ลดการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อแหล่งน้ำสาธารณะและลดโอกาสในการปนเปื้อนจากอุตสาหกรรมสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงาน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ ทางบริษัทฯ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นแบบ Smart Warehouse, Quantum Computing และมีการใช้รถ EV ที่เป็น Green Transportation ซึ่งในทุกวันนี้รถที่วิ่งอยู่บนถนนล้วนแล้วแต่เป็นรถที่บริโภคน้ำมันสันดาป จึงเป็นพันธกิจของทางบริษัทฯ ที่จะต้องคิดพัฒนาให้เป็นรถ EV ซึ่งก็จะต้องมีแหล่งจัดเก็บพลังงานคือ แบตเตอรี่ ซึ่งมีข้อท้าทายคือภายใน 8-10 ปีข้างหน้าแบตเตอรี่ก็จะกลายเป็นของเสีย (waste) ดังนั้น บริษัทฯ จึงมองว่าจะสามารถนำเอาแบตเตอรี่แปรมาใช้เป็นวัตถุดิบ (raw material) ในลักษณะอย่างไรได้บ้าง และในส่วนที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ทางบริษัทฯ ก็พยายามใช้พลังงานทางเลือก เช่น หลังคาโซล่า (Solar roof) และลดการปล่อยควันพิษออกสู่พื้นที่ภายนอก อันเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อย่างมีนัยสำคัญ