รศ.ดร.ณกร อินทร์พยุง คณบดีคณะโลจิสติกส์ และ ดร.สิริเชษฐ์ รัตนะชิตธวัช คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร (วิทยาเขตสระแก้ว) มหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมด้วยคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร ได้ประชุมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุม LOG2-303 คณะโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สมาร์ทฟาร์มมิ่งและโซ่อุปทานอัจฉริยะ โดยมีนายวิรัช คาราวะพิทยากุล ที่ปรึกษาคณะโลจิสติกส์ และนายธีรพงษ์ โกษาแสง ผู้จัดการโครงการพิเศษ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกในการพัฒนาหลักสูตรฯ
ภาพรวมของโครงสร้างหลักสูตรฯ มุ่งเน้นไปที่การให้ผู้เรียนรู้จักการฝึกคิดที่จะนำความรู้และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจัดการฟาร์ม รวมถึงการนำสิ่งที่ค้นพบจากการลงมือปฏิบัติมาต่อยอดสู่การพัฒนาตนเองให้เกิดเป็นทักษะด้านการเกษตรที่ทันต่อเทคโนโลยีของโลกในปัจจุบันได้ หลักสูตรนี้จะถูกจัดเป็นอีก 1 แขนงวิชาภายใต้สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของคณะโลจิสติกส์ เรียนแบบทวิภาคระยะเวลาเรียน 4 ปี โดยในปีที่ 1 และ 2 จัดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตสระแก้ว นิสิตจะมีโอกาสฝึกปฏิบัติแบบ First Hand Knowledge ในกลุ่มวิชาด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพ ในปีที่ 3 และ 4 จัดการเรียนการสอนที่คณะโลจิสติกส์ เน้นการสร้างทักษะในกลุ่มวิชาด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอัจฉริยะ และวิธีคิดเชิงนวัตกรรมในธุรกิจฟาร์ม การขับเคลื่อนหลักสูตรอยู่ภายใต้หลักคิด “University as a playground” ที่ให้นิสิตได้มีโอกาสทดลองและสร้างพฤติกรรมการเรียนรู้ในอาชีพของตนเอง
ถึงแม้จะเป็นการทำงานที่ท้าทายของคณาจารย์และบุคลากรของทั้ง 2 คณะ แต่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทางมหาวิทยาลัย เพราะผลที่ได้จากความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนิสิตที่เลือกเรียนในหลักสูตรนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างบุคลากรในมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจด้านการเกษตรที่พร้อมให้ความร่วมมือ สนับสนุนงานวิชาการและออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับโลกในภาคการเกษตรที่ต้องก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
รายละเอียดหลักสูตร https://buulog.com/index.php/course/smart-farmming-and-supply-chain/