เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2568 คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมและหารือร่วมกับคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยเฉพาะในบริบทของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต
ในการหารือครั้งนี้ คณะโลจิสติกส์ได้สะท้อนบทบาทในฐานะ “ต้นน้ำ” ของการผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการพัฒนาหลักสูตรแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ และหลักสูตรต่อเนื่องสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับอนุปริญญาแล้วต้องการต่อยอดองค์ความรู้เป็นระดับปริญญาตรีเพื่อประโยชน์ในด้านหน้าที่การงาน รวมถึงการดำเนินงานด้านสมาร์ทฟาร์มมิ่งร่วมกับคณะเทคโนโลยีการเกษตรและคู่ความร่วมมืออื่น ๆ โดยเน้นให้นิสิตได้ฝึกแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง (Problem-based Learning) เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาเฉพาะทางเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เครื่องจักรเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรในภาคเดินเรือ โดยมีข้อเสนอให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐในการพัฒนาทักษะที่ตรงจุด ผ่านระบบฝึกงานแบบ CWIE และการส่งเสริมระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank) เพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะของแรงงานอย่างต่อเนื่อง (Lifelong Learning)
ในการนี้ คณะโลจิสติกส์จึงได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าในภารกิจด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อสนองรับต่อนโยบายภาครัฐด้านการพัฒนาทักษะแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
















